ทฤษฎีทวีปเลื่อน

ทฤษฎีทวีปเลื่อน

 
อัลเฟรด  เวเกเนอร์ (Alfred  Wegener) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้สังเกตแผนที่โลก และพบว่าบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้และชายฝั่งด้านตะวันตกของทวีปแอฟริกา ดูเหมือนว่าจะต่อเข้ากันได้พอดี  คล้ายการต่อจิ๊กซอว์ และได้ตั้งข้อสังเกตว่าทวีปต่างๆ ในปัจจุบันทั้งหมด ในอดีตเคยอยู่ติดกันเป็นผืนแผ่นดินขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียว


จากข้อสังเกตดังกล่าว  อัลเฟรด เวเกเนอร์ จึงได้เสนอ ทฤษฎีทวีปเลื่อน (theory of continental drift) ที่อธิบายว่าในอดีตเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน ทวีปต่างๆที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้เคยอยู่รวมกันเป็นแผ่นดินขนาดกว้างใหญ่เพียงแผ่นเดียวที่เรียกว่า พันเจีย (pangea) ซึ่งมีความหมายว่าแผ่นดินทั้งหมด ทะเลที่อยู่รอบๆ พันเจีย เรียกว่า พันทาลัสซา (panthalassa) ต่อมาพันเจียได้แตกออกเป็น 2 ส่วน ด้านเหนือของพันเจีย เรียกว่า ลอเรเซีย (laurasia) และด้านใต้ เรียกว่า กอนด์วานา (gondwana)


 


ในเวลาต่อมาพันเจียจึงค่อยๆ แตกและเคลื่อนที่แยกออกจากกันเนื่องจากการขยายตัวของเปลือกโลกมหาสมุทร การเคลื่อนที่แยกออกจากกันของพันเจียเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อนจนกลายเป็นทวีปต่างๆ ดังเช่นปัจจุบัน

 

หลักฐานที่สนับสนุนแนวทฤษฎีทวีปเลื่อน  ได้แก่  หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ พืชและสัตว์  หลักฐานจากภูมิอากาศโบราณและหลักฐานทางธรณีวิทยา 
 
 หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ 

            จากการค้นพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์พืชและสัตว์ชนิดเดียวกันบนทวีปที่ปัจจุบันอยู่ห่างกันมากและมีมหาสมุทรคั่นไว้  ซึ่งพืชและสัตว์ดังกล่าวไม่สามารถแพร่พันธุ์ข้ามทวีปที่มีมหาสมุทรกว้างหลายพันกิโลเมตรคั่นไว้   จากหลักฐานดังกล่าวจึงนำมาใช้สนับสนุนทฤษฎีทวีปเลื่อนที่กล่าวว่าทวีปต่างๆ ในปัจจุบัน  ในอดีตเคยอยู่ติดกันเป็นผืนแผ่นดินขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียว  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแผนที่พันเจีย
 
หลักฐานจากภูมิอากาศโบราณ
หลักฐานจากภูมิอากาศโบราณแสดงให้เห็นว่าหลายทวีปในปัจจุบันที่อยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น   ในอดีตทวีปดังกล่าวเคยถูกปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งมาก่อน  โดยมีการค้นพบร่องรอยที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งในอดีตบนพื้นทวีป
 
หลักฐานทางธรณีวิทยา
          หลักฐานทางธรณีวิทยาที่สนับสนุนทฤษฎีทวีปเลื่อน  ได้แก่  การค้นพบชิ้นหินที่มีลักษณะเหมือนกันตรงบริเวณสองฝากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก  ในทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกา



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น